สัมมนาพิเศษ​และการสอบสายประจำปี 2024

วันเสาร์และอาทิตย์ที่ 24-25 ก.พ.67 อาจารย์โยชิทะกะ โนมูระ เม็งเกียวไคเด็น จาก โยโกฮาม่ามุไกไค เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อทำสัมมนาพิเศษ ณ โรงฝึกมุไกริวกรุงเทพ รวมถึงทำการสอบเลื่อนระดับให้กับสมาชิกโรงฝึก ซึ่งเป็นการเดินทางมาประเทศไทยครั้งแรกหลังจากสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งในครั้งนี้มีผู้ทดสอบและผ่านการสอบระดับdan เพิ่มจำนวน 3 คน

มุไกริว

อิไอโด

อิไอจุสสุ

iaido bangkok

 

 

 

มุไกริว อิไอเฮียวโด ไม่ใช่วิชาอิไอโด

 

สำหรับโรงฝึกวิชาดาบสำนักมุไก หรือ มุไกริวนั้น
มักจะเห็นการเรียกกันมากว่าเป็นวิชาอิไอโด แต่ในความจริงนั้นอิไอโดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิชาในมุไกริว
แต่ก็เป็นส่วนที่มีชื่อเสียงและเป็นส่วนพื้นฐาน ทำให้คนมักจะเรียกและเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นวิชาชื่อ มุไกริว อิไอโด

ที่มาของวิชาดาบของมุไกริวนั้นมีพัฒนาการตามระยะเวลาที่ผ่านมาในแต่ละยุคสมัย
โดยตั้งแต่ยุคแรกนั้นวิชาดาบของมุไกริวยังมีลักษณะเป็นวิชาเคนจุสสุ ส่วนอิไอนั้นตามเข้ามาเมื่อภายหลัง

ในยุคเอโดะ ผู้ก่อตั้งของมุไกริว ซึจิ เก็ตตัน ซุเกะโมชิ (Tsuji Gettan Sukemochi) เริ่มต้นฝึกฝนวิชาดาบของ ยามากุจิ ริว (Yamaguchi-ryu)
เมื่อได้รับอนุญาตจึงมาเริ่มต้นเปิดโรงฝึกของยามากุจิ ริวที่เมืองเอโดะ
ต่อมาด้วยการพยายามค้นหาตนเองจึงได้เข้าไปฝึกฝนตนตามวิถีของนิกายเซน และ เรียนรู้วรรณกรรมเก่าแก่ ที่วัด Kyukoji ในเมือง Azabu Sakurada

จนเมื่ออายุ 32 ก็เริ่มต้นกำเนิดวิชาดาบมุไกริวโดยนำชื่อมุไกมาจากบทโศลกที่ได้รับมาจากอาจารย์
โดยในครั้งแรกโดยมีชื่อเต็ม คือ มุไกชินเด็นเคนโป Mugai Shinden Kenpō (無外真伝剣法) มีลักษณะเป็นวิชาเคนโป (Ken = ดาบ, Po = กฏ)
และ ถูกเรียกในอีกชื่อว่ามุไกริว เฮียวโฮ (兵法 Hyoho หมายถึง ศิลปะของการสงคราม)
โดยมีหัวใจของการฝึกที่มาจากแนวคิดของนิกายเซน และ แนวคิดของหยินและหยาง

ในตอนนั้นอาจจะกล่าวได้ว่า ซึจิ เก็ตตัน มุ่งเน้นไปที่วิชาดาบในแบบของเคนจุสสุ โดยแทบไม่เกี่ยวข้องกับอิไอเลย
โดยวิชาดาบที่เกิดขึ้นได้เริ่มมีชื่อเสียงและ เมื่ออายุได้ 45 ปี ได้เข้าถึงภาวะรู้แจ้งในวิถีแห่งเซน
ด้วยความมีชื่อเสียงทำให้วิชาดาบมุไกริว เฮียวโฮ ได้แพร่หลายอย่างมาก
โดย Tsuji Gettan Sukemochi มีเชื่อว่าดาบและเซนมุ่งไปสู่การหาความจริงอันเดียวกัน

อย่างที่กล่าวไปว่าวิชาดาบของซึจิ เก็ตตัน ซุเกะโมชิ จะมีลักษณะเป็นวิชาเคนโป หรือ เคนจุสสุในยุคนั้น
ส่วนอิไอโดนั้นเข้ามาร่วมด้วยทีหลัง เพราะซึจิ เก็ตตัน เรียนวิชาอิไอจุสสุ มาจากสำนักดาบจิเกียวริว อิไอ จุสสุ (Jikyo-ryu Iaijutsu) โดยเรียนมาจากผู้ก่อตั้งของจิเกียวริว อิไอ
โดยตัวลูกศิษย์คนอื่น ๆ ก็ทำตามซึจิ เก็ตตัน ที่เข้าฝึกวิชาจิเกียวริว อิไอไปด้วย ยังไงก็ตามวิชาอิไอยังไม่อยู่ในวิชาดาบมุไกริวในตอนนี้

แต่ต่อมาในระหว่างการสืบทอดของวิชามุไกริวในหลายรุ่นถัดมา ผู้สืบทอดของมุไกริวได้กลายเป็นผู้สืบทอดวิชาดาบจิเกียวริว อิไอไปด้วย
เพราะ หลังจากถูกถ่ายทอดวิชาทั้งสองควบคู่กัน เมื่อผ่านไปหกรุ่นของมุไกริวแล้วผู้สืบทอดวิชาทางฝั่ง จีเกียว ริว กลับได้ขาดช่วงสูญหายไป
และ ทำให้ จีเกียวริว อิไอโด ที่ถูกฝึกกันในสำนักมุไก ริว ก็กลายเป็นที่รู้จักกันในส่วนหนึ่งของวิชาใน มุไกริว ในชื่อของ มุไกริว อิไอ แทน

ผู้สืบทอดรุ่นที่ 10 ทาคาฮาชิ คิวทาโร่ โคอุน ของ มุไก ริว นั้นมีชื่อเสียงอย่างมากในฐานะอาจารย์สอนดาบของสำนักงานตำรวจ
โดย ทาคาฮาชิ คิวทาโร่ โคอุน ได้ฝึกวิชาดาบมุไกริว เฮียวโด, วิชาจีเกียว ริว อิไอ และ ซึดะอิชิเด็น ริว เคนจุสสุ (Mugai-ryu Hyohou, Jikyo-ryu Iai, Tsuda ichiden-ryu Kenjutsu)
และ เริ่มนำวิชาจีเกียว ริว อิไอ เข้ามาในการสอนร่วมไปกับ วิชาดาบมุไกริว เฮียวโด

หลังจากนั้น นาคะกาวะ ชินิฉิ ชิริว ที่ได้รับสืบทอดทักษะทั้งหมดจากทาคาฮาชิ คิวทาโร่ และรับตำแหน่งผู้สืบทอดคนที่ 11 ของมุไกริว
ได้มีการรวบรวมวิชาทั้งมุไกริว เฮียวโด และ  วิชาอิไอ มาเป็นระบบการฝึกฝนในชื่อใหม่ว่า มุไก ชินเด็น มุไกริว อิไอ เฮียวโด (Mugai Shinden Mugai-ryu Iai Hyodo)
โดยเรียกสั้น ๆ ว่า มุไกริว อิไอ เฮียวโด (Mugai-ryu Iai Hyodo) ที่รับมาในตอนนั้นนั่นเอง

ดังนั้นในปัจจุบัน หากสำหรับการฝึกแล้วจะเห็นว่า เรามักจะเรียกชื่อสำนักย่อ ๆ ว่า มุไกริว โดยย่อมาจาก มุไกริว อิไอเฮียวโด
โดยมีส่วนประกอบคือวิชาเคนจุสสุ และ อิไอโด รวมถึงมีการฝึกการตัด (ชิซัน) อีกด้วย

เนื่องจากการฝึกอิไอนั้นไม่มีคู่ต่อสู้อยู่ตรงหน้าจริง ๆ จึงทำให้คนหลงไปกับท่าทางภายนอกที่ทำให้สวยงามได้
การใช้คำว่าอิไอเฮียวโด นั้นมีที่มาจากที่ผู้ก่อตั้งวิชาดาบมุไกริว นั้นมีความคิดในการที่อยากให้ผู้ฝึกได้คิดถึงวิถีแห่งสงครามประกอบไปในการฝึก และ การขัดเกลาจิตใจด้วยเซน
การฝึกเน้นให้มีความคิดถึงการต่อสู้ ความเป็น และความตายไม่ใช่เพียงการร่ายรำ
และการตัดแต่ละครั้งจะต้องมีความมุ่งมั่นและจิตวิญญาณที่ถ่ายทอดออกไป และฝึกฝนขัดเกลาจิตวิญญาณควบคู่กันไป

ด้วยเหตุนี้การเรียกชื่อวิชาจริง ๆ แล้ว ที่ถูกต้องที่สุดคือ มุไกริว อิไอเฮียวโด นั่นเอง

 

สมาชิกโรงฝึกเข้าฝึก อิไอโด และ เคนจุสสุ ที่ประเทศญี่ปุ่น

ในเดือน ส.ค. 2023 ที่ผ่านมา สมาชิกโรงฝึกเข้าฝึกทั้งในส่วนของวิชา อิไอโด และ เคนจุสสุ ที่โรงฝึก โยโกฮาม่า มุไกไค ประเทศญี่ปุ่น
พร้อมทั้งสอบเลื่อนระดับ Kyu และ Dan โดยใช้สถานที่ของ โยโกฮาม่า บุโดคัง

 

 

โรงฝึกมุไกริวกรุงเทพ

โรงฝึกทำการเปลี่ยนชื่อจาก กลุ่มฝึกมุไกริวกรุงเทพ (Mugairyu Bangkok Keikokai) เป็น โรงฝึกมุไกริวกรุงเทพ (Mugairyu Bangkok Dojo) ตั้งแต่ 31 ก.ค.66 เป็นต้นไป

การสวมใส่ชุดฝึกอิไอ

วิธีการสวมใส่ชุดฝึกเพื่อเข้าฝึกอิไอโดมีดัวนี้

สำหรับผู้เข้าฝึกใหม่นั้นทางโรงฝึกมีชุดฝึกไว้ให้ยืมใช้งาน และมีรุ่นพี่ช่วยใส่ชุดฝึก แต่ยังควรทราบถึงวิธีการใส่ชุดฝึกด้วยตนเองดังนี้

1.เสื้อฝึก Iaido-gi (ส่วนมากจะใช้สีดำเป็นหลักสำหรับโรงฝึกอิไอโด และเคนจุสสุ)
ใส่เหมือนกิโมโนตามปรกติ การใส่ให้ใช้เสื้อด้านซ้ายทับขวาเท่านั้น (ที่ญี่ปุ่นนั้นการใส่เสื้อด้านขวาทับซ้ายใช้ใส่ให้กับผู้เสียชีวิตเท่านั้น) เสื้อที่อยู่ภายในอาจจะใส่เสื้อชั้นในแบบจูบัง สีขาว หรือ สมัยใหม่นี้ก็นิยมใช้เสื้อยืดกันก็ได้แต่จะต้องใส่ไม่ให้คอเสื้อด้านในโผล่ออกมา

2. โอบิ
สามารถใส่โอบิด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ตัวอย่างในวีดีโอเป็นวิธีหนึ่งที่เป็นที่นิยม
ตามปรกติแล้วผู้ฝึกวิชาดาบญี่ปุ่น เช่น อิไอโด นิยมใช้ คาคุโอบิ ที่ใช้กับการใส่กิโมโนแบบในวีดีโอ มากกว่า อิไอโอบิ เพราะจะรัดได้แน่นกว่าทำให้สะดวกในการพกดาบ

3. ฮากาม่า
เลือกใช้ฮากาม่าสำหรับการฝึกอิไอโด (ส่วนมากจะใช้สีดำเป็นหลักสำหรับโรงฝึกอิไอโด และเคนจุสสุ) ลักษณะเชือกจะแตกต่างกับฮากาม่าของวิชาไอคิโด สามารถใส่ได้ดังตัวอย่างในวีดีโอ ให้เลือกความยาวของฮากาม่าที่ไม่คลุมเท้าจนถึงพื้นเพราะจะทำให้ลุกนั่งไม่สะดวก และมีโอกาศล้มได้ง่าย

เด็กสามารถเข้าฝึกได้หรือไม่?

Q: เด็กสามารถเข้าฝึกได้หรือไม่?
A: ส่วนมากแล้วขึ้นอยู่กับตัวเด็กเอง และความเข้าใจของผู้ปกครองก็มีส่วนเช่นกัน

ปัจจุบันมีผู้ปกครองที่อยากให้เด็ก ๆ เข้าฝึกดาบญี่ปุ่นอย่างอิไอโดจำนวนมาก ทั้งมาจากความสนใจของเด็กเองและความต้องการของผู้ปกครอง ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากอิทธิพลของสื่อต่าง ๆ ในเรื่องของวิชาดาบ แต่มักมีปัญหาเมื่อเด็กเข้ามาฝึกจริงเพราะหลายคนขาดความเข้าใจก่อนที่จะมาฝึก

ในความเป็นจริงแล้วการฝึกศิลปะการต่อสู้โบราณของญี่ปุ่นนั้นส่วนมากต้องอาศัยการฝึกซ้ำๆ การฝึกฝนเรื่องแบบธรรมเนียม มีการฝึกกาต้าเป็นระเบียบแบบแผน มีการฝึกฝนด้านจิตใจและสมาธิ ไม่ใช่เรื่องสนุกแบบในสื่อแบบที่เด็ก ๆ เคยเห็นมา ไม่ใช่เพียงการเล่นฟันดาบ ดังนั้นจึงพบได้บ่อยว่าเด็ก ๆ ทีเข้ามาฝึกนั้นรับการฝึกไม่ไหว ซึ่งส่วนมากแล้วไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจมาฝึกในรูปแบบที่ว่านั่นเอง

ดังนั้นก่อนการเข้าฝึกของบุตรหลาน อาจารย์อยากให้ผู้ปกครองพูดคุยกับเด็ก ๆ ก่อนว่ารูปแบบการฝึกเป็นอย่างไร เปิดวีดีโอในเพจของโรงฝึกนี้ให้ดู และ อ่านข้อมูลรายละเอียดให็เว็บไซต์ให้กระจ่างก่อน มิใช่แค่พามาเพราะความอยากของเด็กอย่างเดียว จะทำให้เด็ก ๆ ฝึกได้ดีขึ้นครับ

ย้ายสถานที่ฝึกใหม่ 2563

กลุ่มฝึกจะย้ายสถานที่ฝึกใหม่ในต้นปี 2563 โดยมีรายละเอียดดังนี้

เวลาในการฝึก
วันเสาร์ 15.00 – 17.00 เริ่มตั้งแต่ 18 ม.ค. 63
วันอาทิตย์ 13.00 – 15.00 เริ่มตั้งแต่ 2 ก.พ.63​

สถานที่
Bangkok Budo Center งามวงศ์วาน

94/21 ถนน งามวงศ์วาน แขวง ทุ่งสองห้อง เขต หลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210

แผนที่
พิกัด 13.853570, 100.550865
ศูนย์ฝึกติดกับศูนย์บริการ Isuzu
พื้นที่เดียวกับสอนภาษาอังกฤษอาจารย์ต้น และ ร้าน WE HelmetShop
มีพื้นที่จอดรถด้านหน้า ด้านข้าง(ซอยงามวงศ์วาน 45/1)
และ ด้านหลังจำนวนมาก

(สามารถคลิกที่รูปเพื่อดูแผนที่ขนาดใหญ่)