การเข้าฝึกครั้งแรก

การสมัครสมาชิกใหม่

กลุ่มฝึกมุไกริวกรุงเทพ หรือ มุไกริว บางกอก เคโกะไค เป็นกลุ่มฝึกศิลปะการต่อสู้ มุไกริว อิไอ เฮียวโด ที่อยู่ภายใต้สมาคม มุไก ชินเด็น มุไกริว อิไอเฮียวโด ชิริวไก (Mugai Shinden Mugairyu Iaihyodo Shiryukai | ชื่อย่อ ชิริวไก) ภายใต้การดูแลของโยโกฮามะ มุไกไค ในประเทศญี่ปุ่น จึงใช้งานกฏระเบียบเดียวกันกับสมาคมในประเทศญี่ปุ่น

ผู้ฝึกสามารถเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมโยโกฮามะ มุไกไค ในประเทศญี่ปุ่นได้ตามความสมัครใจ ซึ่งจะมีประโยชน์ในการแสดงตนเป็นสมาชิกเพื่อการสอบเลื่อนวุฒิ โดยการสมัครสมาชิกสมาคมจะมีค่าใช้จ่ายแรกเข้าครั้งแรกและค่าใช้จ่ายรายปีตามที่สมาคมในญี่ปุ่นเป็นผู้กำหนด (ปัจจุบันให้สมัครเฉพาะผู้ที่เข้าฝึกมาแล้วระยะหนึ่ง)

 

การเตรียมตัวเข้าฝึกใหม่

โรงฝึกเปิดรับผู้สนใจเข้าฝึกที่สามารถปฏิบัติตามกฎระเบียบของสมาคมได้ ทางกลุ่มฝึกนั้นเริ่มรับผู้ฝึกที่อายุ 14 ปี โดยไม่มีจำกัดอายุที่มากที่สุด ไม่มีข้อจำกัดทางร่างกายเนื่องจากการฝึกของมุไกริวเป็นการฝึกฝนแบบเซ็นที่เน้นการเคลื่อนไหวและการหายใจ ด้วยการเคลื่อนไหวร่างกายประสานกับการหายใจ จึงเป็นการฝึกที่ช่วยในด้านสุขภาพทั้งในด้านการออกกำลังและการทำสมาธิที่ผู้ฝึกแต่ละคนสามารถปรับความช้าเร็วเข้ากับการเคลื่อนไหวของตนเองได้ จึงไม่มีการจำกัดอายุผู้เข้าฝึก ในประเทศญี่ปุ่นผู้ฝึกอายุมากที่สุดมีอายุมากกว่าแปดสิบปี

โรงฝึกมุไกริว กรุงเทพ เป็นโรงฝึกศิลปะการต่อสู้ที่ยึดถือรูปแบบการฝึกเดียวกับการฝึกในประเทศญี่ปุ่น ผู้สนใจเข้าฝึกจะต้องทำความเข้าใจกับข้อมูลต่าง ๆ ในเว็บไซต์ก่อนร่วมฝึก เมื่อมั่นใจว่าต้องการเข้าฝึกสามารถเข้าฝึกได้ทุกสัปดาห์ที่มีการฝึก โรงฝึกในปัจจุบันไม่อนุญาตให้มีการขอนั่งดูการฝึกโดยไม่ร่วมฝึก ขอให้ผู้ที่สนใจเตรียมตัวเข้าฝึกให้เรียบร้อยก่อนที่จะเดินทางมาโรงฝึก

* สำหรับผู้ที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพให้ปรึกษาแพทย์ก่อนการเข้าฝึกด้วยตนเอง ทางโรงฝึกไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าท่านสามารถเข้าฝึกได้หรือไม่
* ผู้ฝึกที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำเป็นต้องได้รับการอนุญาตจากผู้ปกครองก่อนเข้าร่วมฝึก

 

โรงฝึกเปิดรับผู้เข้าฝึกใหม่ทุกสัปดาห์

สามารถเข้าฝึกได้ทุกสัปดาห์ที่ไม่มีประกาศหยุด
สามารถอ่านรายละเอียดการเข้าฝึกได้ในหน้า การเตรียมตัวเข้าฝึก และ เวลาฝึก สถานที่ และการติดต่อ

ผู้เข้าฝึกใหม่ในช่วงต้น เริ่มต้นด้วยการฝึกจัดเตรียม เสื้อยืด ถุงเท้าสีดำ กางเกงวอร์มขายาวหรือกางเกงลำลองขายาวที่ลุกนั่งได้สะดวก  ส่วนดาบไม้และโอบิสามารถขอยืมจากจากโรงฝึกได้   

 

การเตรียมพร้อมด้านอุปกรณ์

สมาคม โยโกฮามะ มุไกไค นั้นเป็นองค์กรที่ไม่หวังผลกำไร ผู้ฝึกสามารถจัดหาชุดฝึกได้จากร้านค้าด้วยตนเองตามสภาพเศรษฐกิจของแต่ละบุคคล ชุดฝึกและอุปกรณ์มีหลากหลายยี่ห้อและราคา สามารถสอบถามจากอาจารย์ผู้สอนเพื่อจัดหาอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ตามความเหมาะสมของตน อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ในการฝึก เช่น ดาบ และ ชุดฝึก มักหาได้ยากในประเทศไทย ทำให้ต้องใช้เวลาจัดซื้อจากต่างประเทศ แม้ว่าตามท้องตลาดในปัจจุบันมีการจำหน่ายดาบและชุดที่มีลักษณะคล้ายชุดฝึกจำนวนมาก แต่ส่วนมากไม่สามารถใช้งานในการฝึกได้

เพราะเป็นการตัดเพื่อความสวยงามไม่ได้ผลิตมาเพื่อการฝึก ดังนั้น หากผู้เข้าฝึกใหม่ต้องการซื้ออุปกรณ์ใด ๆ ขอแนะนำให้สอบถามก่อนเพื่อจะได้แนะนำในการจัดหาได้ด้วยความถูกต้องและราคาสมเหตุสมผล

  • ขอให้ผู้ที่สนใจเข้าฝึกตระหนักว่า การฝึกวิชาดาบญี่ปุ่นในโรงฝึกนั้น ชุดฝึกเป็นเพียงส่วนประกอบเปลือกนอก ผู้เข้าฝึกไม่สามารถเป็นซามูไรได้เพียงเพราะการแต่งกาย ดังนั้นขอให้ผู้เข้าฝึกให้ความสำคัญกับการฝึกมากกว่าการแต่งกายหรืออุปกรณ์อื่น ๆ ที่ฉาบฉวยเป็นเพียงเปลือกนอก    
  • ผู้เข้าฝึกใหม่ในช่วงต้น เริ่มต้นด้วยการฝึกจัดเตรียม เสื้อยืด ถุงเท้าสีดำ กางเกงวอร์มขายาวหรือกางเกงลำลองขายาวที่ลุกนั่งได้สะดวก  ส่วนดาบไม้และโอบิสามารถขอยืมจากจากโรงฝึกได้   
  • ห้ามใช้กางเกงขาสั้น กางเกงขาสามส่วน กางเกงเล และ เสื้อยืดคอลึกสำหรับสุภาพสตรี ผู้ที่ไม่ได้จัดเตรียมชุดให้เหมาะสมมา จะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าฝึก 

 

ข้อปฏิบัติเมื่อมาฝึกครั้งแรก

  • เมื่อมาฝึกครั้งแรก สามารถสอบถามรายละเอียดจากสมาชิกเดิมในห้องฝึก
  • สำหรับผู้เริ่มฝึกครั้งแรกอาจจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าฝึกในกรณีมาสายนานเกินไป เพราะจะไม่ได้ฝึกท่าพื้นฐานที่อยู่ในช่วงต้นคาบ ทำให้ไม่สามารถฝึกต่อในคาบหลังได้

 

ข้อแนะนำสำหรับอุปกรณ์การฝึกพื้นฐาน

แหล่งซื้ออุปกรณ์ 

  • ปัญหาหนึ่งที่มักพบคือผู้เข้าฝึกใหม่มักจะอยากซื้ออุปกรณ์ตั้งแต่เพิ่งเริ่มฝึก โดยยังไม่มีความรู้ที่เพียงพอ
    ทำให้เกิดปัญหาการซื้ออุปกรณ์บ่อยครั้ง เช่น โดนร้านขายของหลอกให้ซื้ออุปกรณ์ที่ใช้งานไม่ได้และซื้ออุปกรณ์จากแหล่งที่มีราคาแพงเกินไป
  • แนะนำให้สมาชิกชื้ออุปกรณ์หลังฝึกมาแล้วช่วงระยะหนึ่ง โดยสามารถสอบถามอาจารย์ผู้สอน
  • ปัจจุบันทางโรงฝึกแนะนำให้ซื้ออุปกรณ์การฝึกจากร้านในญี่ปุ่นโดยตรง โดยสมาชิกสามารถจัดซื้อได้ด้วยตัวเองได้

ดาบอิไอ (อิไอโตะ) หรือ ดาบไม้พร้อมฝัก  (ใช้งานอย่างใดอย่างหนึ่ง)

  • สำหรับผู้หัดใหม่ขอแนะนำให้เริ่มต้นจากการใช้ดาบไม้ขนาดมาตรฐานพร้อมฝักพลาสติก
    (หาซื้อได้จากภายนอก หรือ ที่โรงฝึก(ถ้ามี) ในราคารวมซองผ้าใส่ดาบประมาณ 1400 บาท)
    จนกระทั่งมั่นใจว่าต้องการฝึกฝนต่อไปอย่างจริงจังจึงซื้อดาบสำหรับการฝึกอิไอ (iaito:อิไอโตะ) มาใช้งาน โดยดาบอิไอระดับเริ่มต้นจากญี่ปุ่นมีราคาประมาณ 7000-10000 บาท
  • สำหรับดาบไม้ หากจัดซื้อเองควรเข้าฝึกก่อนเช่นกัน เพื่อจะได้รู้จักกับดาบไม้โอ๊คแดงหรือดาบไม้โอ๊คขาวที่มีขนาดมาตรฐาน
    จะได้สามารถนำมาใช้กับฝักดาบพลาสติกขนาดมาตรฐานได้ด้วย โดยซื้อจากร้านขายอุปกรณ์ศิลปะการต่อสู้ ไม่ใช่ร้านขายของเล่น
  • ดาบไม้จะสามารถนำมาใช้ในการฝึกซ้อมแบบเข้าคู่ จึงควรมีไว้ใช้งานทุกคน
  • ดาบอิไอที่ทำจากญี่ปุ่นจะทำจากซิงค์อัลลอย เป็นโลหะที่ไม่ขึ้นสนิม ทำขึ้นมาเพื่อใช้ในการฝึกโดยเฉพาะ ไม่ต้องการการดูแลรักษามากจึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการฝึกฝนดาบญี่ปุ่น
    เป็นดาบที่ไม่มีคมและไม่สามารถขึ้นคมได้
  • สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อดาบอิไอ ขอให้สอบถามจากอาจารย์ผู้สอนก่อนซื้อ เนื่องจากความยาวดาบที่เหมาะกับการฝึกวิชาของมุไกริวมักจะไม่เท่ากับความยาวดาบที่มักแนะนำในเวปไซต์ต่าง ๆ
    เพื่อหลีกเลี่ยงการซื้อดาบที่ไม่สามารถใช้ฝึกได้ เช่น ดาบที่ระลึกสำหรับการวางประดับบ้านที่พบเห็นขายกันตามท้องตลาด และ ดาบคุณภาพต่ำ ที่มีโอกาสหักได้ง่ายระหว่างการฝึก
  • โรงฝึกขอแนะนำให้ใช้ดาบอิไอแบบมาตรฐานที่มีความแข็งแรงทนทาน ไม่มีความจำเป็นต้องซื้อดาบที่ราคาแพง ซึ่งส่วนมากจะมาจากส่วนประกอบที่หรูหรา  
  • การเลือกซื้อดาบอิไอนั้น ให้เลือกซื้อดาบในน้ำหนักธรรมดา ไม่ใช่ดาบแบบเบาเป็นพิเศษหรือหนักเป็นพิเศษ​
  • ตัวอย่าง สำหรับยี่ห้อของดาบอิไอที่นิยมใช้งาน เช่น Tozando, Minosaka, Meirin sangyo, Nosyudo
    สำหรับผู้หัดใหม่สามารถใช้ดาบประเภท Nyumon (สำหรับผู้เริ่มต้น) จะมีราคาถูกและคุ้มค่า แม้กระทั่งผู้ฝึกในญี่ปุ่นก็ยังใช้งานกันเป็นปรกติ
  • สำหรับผู้เริ่มฝึกใหม่ทางโรงฝึกมีดาบให้ยืมใช้งานในเบื้องต้น ไม่จำเป็นต้องรีบซื้อ   
  • โรงฝึกอนุญาตให้ใช้เฉพาะดาบอิไอเท่านั้นในการฝึก ห้ามใช้ดาบเหล็ก และ ดาบอื่น ๆ ที่ไม่ได้มาตรฐานในการฝึก เพราะอาจจะเป็นอันตรายกับบุคคลรอบข้าง
  • ดาบที่ไว้แต่งบ้าน, ดาบตามร้านขายของที่ระลึกตามสถานที่ท่องเที่ยวญี่ปุ่นส่วนมากไม่สามารถนำมาฝึกได้ เนื่องจากมักจะเปราะและหักง่าย  
  • เคยมีสมาชิกที่จำเป็นต้องซื้อดาบใหม่ถึงสองครั้ง เพราะ เลือกดาบไม่ถูกต้องจนไม่สามารถใช้งานได้ จึงขอให้ผู้สนใจเข้าฝึกใหม่สอบถามรายละเอียดก่อนที่จะซื้อ


ตัวอย่างดาบอิไอสำหรับฝึกซ้อม

13120026_1224771124213231_3074710108941781287_o
ตัวอย่างดาบไม้และฝักพลาสติก

ชุดฝึก เสื้ออิไอ (โดกิ แบบอิไอโด) และ กางเกงฮากามะ (อิไอโด ฮากามะ)

สีของชุดฝึกอิไอโดอย่างเป็นทางการ คือ สีดำ แต่เสื้อฝึกอนุโลมให้ใช้ สีดำ, ขาว หรือ กรมท่า ส่วนสีของฮากาม่าอนุโลมให้ใช้สีดำและกรมท่า

ดังนั้นการเลือกซื้อเสื้ออิไอและกางเกงฮากามะอาจจะจำเป็นต้องมีการวัดตัวจึงขอให้สอบถามอาจารย์ก่อนที่จะไปซื้อด้วยตนเองเพื่อหลีกเลี่ยงการซื้อชุดที่ผิดขนาด
ที่โรงฝึกมีชุดหลายขนาดให้ทดลองใส่ได้ เมื่อเข้ามาฝึกในเบื้องต้นสามารถลองชุดเพื่อหาเบอร์ที่เหมาะสมได้ที่กลุ่มฝึกก่อนการเลือกซื้อ
(ในระดับเริ่มต้น ชุดฝึกระดับต้นที่ประกอบไปด้วยเสื้อฝึกและฮากามะ ราคาประมาณ 2000-3000 บาท)

การเลือกชุดฝึกขอให้ผู้เข้าฝึกใหม่พิจารณาเลือกชุดจากร้านขายอุปกรณ์ศิลปะการต่อสู้ที่มีคุณภาพที่ใช้เพื่อการฝึกซ้อม
(ส่วนชุดฮากาม่าและเสื้อสำหรับคอสเพลย์ ไม่เหมาะสมกับการใช้ฝึกซ้อม)

 

SONY DSC

ตัวอย่างเสื้อฝึก

 

สายคาดสำหรับอิไอ (อิไอโอบิ)        (จำเป็นต้องมี)
สายคาดหรือโอบิที่ใช้สามารถเป็นอิไอโอบิ (โอบิสำหรับอิไอโด ราคาเริ่มต้นประมาณ 500 บาท) หรือ โอบิหนาสำหรับกิโมโนที่เรียกว่าคาคุโอบิ (ราคาประมาณ 1000-1200 บาท)
โดยสามารถใช้สายโอบิได้ทุกสี  * ทางโรงฝึกแนะนำให้ใช้สายแบบที่เรียกว่าคาคุโอบิเนื่องจากจะกระชับดาบมากกว่า

SONY DSC

ตัวอย่างสายคาดแบบคาคุโอบิ (แนะนำ)

 

สนับเข่า   
แนะนำให้ใช้งานเมื่อต้องการฝึกอย่างจริงจัง เนื่องจากจำเป็นต้องมีการนั่งคุกเข่าค่อนข้างเยอะ แนะนำให้จัดหาสนับเข่าแบบนิ่มสำหรับการเช่นกีฬา เช่น วอลเลย์บอล มาใช้ในการฝึกด้วย (สามารถหาได้ทั่วไป ราคาประมาณ 300-400 บาท) 

SONY DSC

ตัวอย่างสนับหัวเข่า

 

รองเท้าทาบิ (มีหรือไม่มีก็ได้)
รองเท้าทาบิที่ใช้จะเป็นทาบิเพื่อการฝึกศิลปะการต่อสู้ หรือ บูโด ทาบิ  (ราคาประมาณ 1000-2000 บาทในญี่ปุ่น หรือ ประมาณ 400-500 บาทจากจีน) จะไม่ใช่ทาบิที่ใช้กับกิโมโนที่เป็นผ้าลื่นเพราะจะลื่นจนเกินไป
อย่างไรก็ตาม รองเท้าทาบินั้นไม่จำเป็นมากสามารถฝึกด้วยเท้าเปล่าหรือใส่ถุงเท้าก่อนได้

 

 

สามารถเข้าฝึกได้ทุกสัปดาห์ที่ไม่มีประกาศหยุด
สามารถอ่านรายละเอียด เวลา ค่าธรรมเนียมการฝึก สถานที่ฝึก
ได้ในหน้าการเตรียมตัวเข้าฝึก และ เวลาฝึก สถานที่ และการติดต่อ